สุดยอด กลศึกสามก๊ก : กลยุทธ์ชนะศึก

กลศึกสามก๊ก คือ กลยุทธ์ต่างๆ ที่ใช้ในการทำศึกสงครามที่ปรากฏในวรรณกรรมจีนต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจและคู่ควรต่อการศึกษา เพราะในสงครามสามก๊กนั้น บ่อยครั้งที่กำลังทหารที่มีกำลังไพร่พลน้อยกว่ากลับเอาชนะกำลังทหารที่มีกำลังไพร่พลมากกว่าได้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือกลยุทธ์ด้านยุทธศาสตร์ และความชำนาญทางภูมิศาสตร์ในการทำศึกสงคราม
คุณอาจสนใจกลยุทธ์อื่นๆ: กลยุทธ์เผชิญศึก, กลยุทธ์เข้าตี, กลยุทธ์ติดพัน, กลยุทธ์ร่วมรบ, กลยุทธ์ยามพ่าย
ในสามก๊กมีการใช้กลศึกจำนวนมากมายเพื่อหลอกล่อศัตรูให้ได้มาซึ่งชัยชนะ มีทั้งการต่อสู้ทางสติปัญญา และเต็มไปด้วยสุดยอดกุศโลบายในการแสดงศักยภาพของกองทัพ นอกจากฝีมือในการรบที่สูงส่งแล้ว แม่ทัพที่นำทัพในสนามรบจะต้องรู้หลักและเชี่ยวชาญตำราพิชัยสงคราม และมีเสนาธิการที่ปรึกษาทัพจะต้องรอบรู้ในทุกๆ ด้าน รู้แจ้งในกลศึกต่างๆ ของศัตรู รู้ถึงจิตใจของทหารภายใต้บังคับบัญชา และรู้จักฉกฉวยจังหวะสำคัญในการโจมตีจึงจะสามารถเอาชนะศัตรูได้ ซึ่ง กลศึกสามก๊ก ที่สำคัญในการทำสงครามสามก๊กแต่ละครั้งมี คือ กลยุทธ์ชนะศึก, กลยุทธ์เผชิญศึก, กลยุทธ์เข้าตี, กลยุทธ์ชนะศึก, กลยุทธ์ติดพัน, กลยุทธ์ร่วมรบ, กลยุทธ์ยามพ่าย โดยในครั้งนี้เราจะเริ่มต้นด้วยการนำเสนอ กลยุทธ์ชนะศึก

1. ปิดฟ้าข้ามทะเล
กลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเล หรือ หมานเทียนกว้อไห่ เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายหรือแนวคิดในการมองข้ามสิ่งใดๆ ก็ตามที่คิดว่าตนเองนั้นได้ตระเตรียมไว้พร้อมสรรพแล้ว ก็มักจะมีความประมาทมองข้ามศัตรูไปอย่างง่ายดาย ดังนั้นใครก็ตามเมื่อพบเห็นสิ่งใดที่มองเห็นเสมอในยามปกติ ก็อาจไม่เกิดความติดใจสงสัยในสิ่งนั้น จึงเกิดความชะล่าใจในตนเองจนลืมการป้องกันตัวเองในที่สุด ด้วยเหตุดังกล่าว การบุกเข้าโจมตีศัตรูโดยที่ศัตรูไม่รู้ตัวจึงเสมือนว่าเป็นการได้ชัยชนะมาแล้วครึ่งหนึ่งและสามารถเอาชนะได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นการปกปิดอำพรางซ่อนเร้น จึงเป็นกลยุทธ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดในการทำศึกสงคราม
ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเลไปใช้ ได้แก่ ลิบองที่ลอบบุกเข้าโจมตีเกงจิ๋วโดยที่กวนอูไม่รู้ตัวแม้แต่น้อย
2. ล้อมเวยช่วยจ้าว
กลยุทธ์ล้อมเวยช่วยจ้าว หรือ เหวยเวยจิ้วจ้าว เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ศัตรูรวบรวมกำลังทหารและไพร่พลไว้เป็นจุดศูนย์กลางของกองทัพ ทำให้มีกำลังและความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นในการที่จะจู่โจมศัตรูที่มีการรวมพลังที่แข็งแกร่งดังกล่าว จึงควรที่จะใช้กลยุทธ์ในการดึงแยกศัตรูให้แตกออกจากกัน เพื่อให้กำลังไพร่พลทหารกระจัดกระจาย และคอยเฝ้าระวังและมีความห่วงหน้าพะวงหลังในการทำศึกสงครามแล้วจึงบุกเข้าโจมตี
ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ล้อมเวยจิ้วจ้าวไปใช้ ได้แก่ จูกัดเหลียงที่หลอกให้โจโฉนำทัพไปทำศึกสงครามกับซุนกวน และนำทัพบุกเข้ายึดฮันต๋งจากโจโฉมาเป็นของตนได้สำเร็จ

3. ยืมดาบฆ่าคน
กลยุทธ์ยืมดาบฆ่าคน หรือ เจี้ยเตาซาเหริน เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการกำจัดศัตรูที่มีความเข้มแข็งและแข็งแกร่งในศึกสงคราม ไม่จำเป็นที่จะต้องลงมือจัดการด้วยตนเอง โดยการลงมืออาจทำโดยการพึงยืมกำลังและไพร่พลทหารของผู้อื่นเป็นฝ่ายกำจัดศัตรูโดยไม่ต้องออกแรง เพื่อเป็นการรักษากำลังและไพร่พลทหารของตนเองไว้สำหรับการศึกอื่น
ตัวอย่างเช่น การนำเอากลยุทธ์ยืมดาบฆ่าคนไปใช้ได้แก่จิวยี่ที่หลอกให้โจโฉฆ่าซัวมอและเตียวอุ๋น แม่ทัพเรือของตนเองในคราวศึกเซ็กเพ็กที่โด่งดัง ระหว่างเล่าปี่และซุนกวนจนโจโฉถูกเผาเรือพ่ายแพ้ย่อยยับ
4. รอซ้ำยามเปลี้ย
กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ย หรือ อี่อี้ไต้เหลา เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ศัตรูยังคงมีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง กำลังไพร่พลทหารยังคงแข็งแกร่งยากจะต่อสู้ก็ไม่ควรจะเข้าปะทะโดยตรงด้วยกำลังที่มีอยู่ แต่ยามใดที่ศัตรูเกิดความอ่อนแอในกองทัพเมื่อใด แม่ทัพต้องรีบฉวยโอกาสบุกเข้าโจมตีโดยเร็วและทันที เพื่อเป็นการข่มขวัญและป้องกันไม่ให้ศัตรูกลับมาแข็งแกร่งดั้งเดิมอีกครั้งหนึ่ง
กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ยเป็นการใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ให้ระยะเวลาเป็นการบั่นทอนกำลังและจิตใจของศัตรู ฉวยโอกาสพลิกสถานการณ์จากเดิมที่กลายเป็นรองหรือเสียเปรียบให้กลายเป็นฝ่ายได้เปรียบ ในสามก๊กยามเกิดศึกสงคราม กองทัพทุกกองทัพต่างใช้กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ยเพื่อหาโอกาสเหมาะในการบุกเข้าโจมตีศัตรูยามเพลี่ยงพล้ำอยู่ตลอดเวลา
ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ยไปใช้ เช่น ลกซุนที่แนะนำซุนกวนให้พระเจ้าเล่าเสี้ยนนำกำลังทหารไปตีลกเอี๋ยง

5. ตีชิงตามไฟ
กลยุทธ์ตีชิงตามไฟ หรือ เชิ่นหว่อต่าเจี๋ย เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ศัตรูยังอยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนแอและย่ำแย่ ควรรีบฉกฉวยโอกาสนำทัพเข้าจู่โจมเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ หรือมอบหมายให้แม่ทัพหรือทหารที่มีความเข้มแข็งนำทัพเข้ารบและโจมตี ซึ่งเป็นการฉกฉวยเอาผลประโยชน์จากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงและยุ่งเหยิง พลิกกลับผลประโยชน์มาเป็นของตน
ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ตีชิงตามไฟไปใช้ คือตอนที่ตั๋งโต๊ะที่ฉกฉวยโอกาสยึดเอาเมืองหลวงและราชสำนักของพระเจ้าหองจูเหียบมาเป็นของตน และแต่งตั้งตนเองเป็นมหาอุปราชและเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าหองจูเปียน
6. ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม
กลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม หรือ เซิงตงจีซี เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการโจมตีศัตรู จะต้องเตรียมการและบุกโจมตีในจุดที่ศัตรูต่างคาดไม่ถึงเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ศัตรูวางแนวการตั้งรับได้ถูก ด้วยการหลอกล่อศัตรูให้เกิดการหลงทิศกับการบุกโจมตีและนำกำลังทหารไปเฝ้าระวังผิดตำแหน่ง ทำให้เกิดการหละหลวมต่อกำลังทหารและเปิดโอกาสให้สามารถเอาชนะได้โดยง่าย
ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิมไปใช้ ได้แก่ จูกัดเหลียงที่หลอกล่อเฮ็กเจียวให้เกิดความสับสนและหลงทิศในการนำกำลังทหารเฝ้าระวังการบุกเข้าโจมตีด่านตันฉองของจูกัดเหลียงและทหารจ๊กก๊ก