เริ่มวางแผนการเงินขั้นพื้นฐาน บริหารผ่านฉลุย ตอนที่ 1

พอพูดถึงเรื่องวางแผนการเงินเมื่อไหร่ เชื่อว่าหลายๆคนมักจะนึกถึงเลือกของ “การลงทุน” ซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจริงๆแล้วเรื่องของการลงทุนเป็นเพียง 1 ใน 3 ส่วนของเรื่องการวางแผนการเงินเท่านั้นเอง จริงๆแล้วจะมีทั้งเรื่อง “การบริหารรายรับรายจ่าย” และเรื่อง “การบริหารความเสี่ยง” ที่เป็นอีก 2 ส่วนที่สำคัญด้วย แต่เป็นเรื่องที่คนมากกว่า 95% มองข้ามเลยด้วยซ้ำ
ดังนั้นเรื่องการวางแผนการเงินจึงเป็นการนำทั้ง 3 ส่วนมาผสมรวมกันอย่างกลมกลืนไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิดต่างๆ อีกมากมายเลย นอกจากจะเอาเรื่องการวางแผนการเงินไปผสมกับเรื่องการลงทุนแล้ว ยังคิดอีกว่าเป็นเรื่องของคนรวยเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วการวางแผนการเงินคนที่ยังไม่ค่อยมียิ่งต้องทำก่อนเพราะชีวิตรองรับความเสี่ยงได้น้อยกว่า
หรือจะคิดว่าเป็นเรื่องของคนแก่เท่านั้นอันนั้นก็ผิดอย่างมหันต์เลยเพราะว่า คนแก่มักจะวางแผนการเงินไม่ทันหรือวางก็ไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่เท่าไหร่แล้ว แต่หารู้หรือไม่ว่าคนที่อายุน้อยๆเพิ่งเริ่มต้นทำงานต่างหากที่สามารถใช้ประโยชน์จากเรื่องการวางแผนการเงินได้อย่างเต็มที่
แล้วที่หนักเข้าไปอีกก็คือชอบคิดว่ารอให้เกิด “วิกฤต” ก่อนแล้วค่อยมาจัดการแผนการเงินละกัน ความคิดแบบนี้ไม่ต่างจากบอกว่ารอให้รถชนก่อนเดี๋ยวค่อยซื้อประกันภัยล่ะกัน…. มันก็เบิกไม่ได้ยังไงล่ะ!! การที่เรามาจัดการเรื่องเงินตอนวิกฤตแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย แล้วจากประสบการณ์ส่วนใหญ่มากกว่า 90% คนที่มาตื่นตัวเรื่องเงินจากวิกฤตมักจะแก้ปัญหาเรื่องเงินด้วยการ “กู้เงิน” ซึ่งทำให้วิกฤตที่เราเจอยิ่งหนักเข้าไปอีก
ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าถ้าจะเริ่มวางแผนการเงินจริงๆตามหลักสากลเลย เราควรเริ่มต้นที่ตรงไหน เราจะได้เริ่มจัดสรรเงินเราได้อย่างถูกต้อง
เราจะเริ่มวางแผนการเงินตามสามเหลี่ยมรูปแบบนี้เลย โดยเริ่มต้นจัดการตั้งแต่ชั้นล่างสุด Wealth Protection ก่อนแล้วไล่ขึ้นมาด้านบนเรื่อยๆ จนมาสุดที่ Wealth Distribution มาดูที่ฐานล่างกันก่อนดีกว่าเราต้องทำอะไรกันบ้าง
“การปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection)” จะประกอบด้วย 4 ส่วนหลักๆ คือ
1. เงินสำรองฉุกเฉิน 3 – 6 เดือนของค่าใช้จ่าย
เงินส่วนนี้หลายๆ คนอาจจะคิดว่า “เงินสำรองฉุกเฉิน” เอาไว้เพื่อกรณี เจ็บป่วย อุบัติเหุตต่างๆนานา ซึ่งจริงๆ แล้วเงินส่วนนี้เรากันไว้เพื่อ “รายได้” เราหยุดลงต่างหาก เพราะเมื่อรายได้หยุดชะงักไป แต่รายจ่ายเรายังคงอยู่ เงินส่วนนี้จะเอาไว้ใช้ตอนที่เราตกงานนั่นเอง ส่วนจะเก็บมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่างานที่เราทำหางานทดแทนได้ยากง่ายขนาดไหน ถ้าง่ายมากก็ 3 เดือนก็โอเค แต่ถ้ายากมากอาจจะต้องกันเงินส่วนนี้ไว้ 12 เดือนขึ้นไปเลยด้วยซ้ำ โดยเราจะเก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ในบัญชีเบิกถอนง่ายๆ อย่าง เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ หรือกองทุนรวมตลาดเงินก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
2. ประกันชีวิต
หัวข้อนี้เหมาะกับคนที่เป็น “หัวหน้าครอบครัว” หรือคนที่มีภาระต้องดูแลคนข้างหลัง ไว้เผื่อกรณีที่ถ้าเกิดเราไม่อยู่คนที่อยู่ภายใต้การดูแลเราจะต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมือนเดิมไม่ต่างจากที่เรายังมีชีวิตอยู่
3. ประกันสุขภาพ/อุบัติเหตุ
ส่วนตรงนี้เป็นส่วนที่หลายๆ คนมองข้ามและมองว่าเป็นภาระมากที่สุดเพราะ “เบี้ยประกัน” ที่จ่ายเป็นเบี้ยจ่ายทิ้งไม่ได้เงินคืนแต่อย่างใด แต่เงินส่วนนี้เป็นเรื่องควรมีมากที่สุดเพราะปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสูงมาก บางคนถึงกับบอกว่า “หมอรักษาเราด้วยยา แต่ฆ่าเราด้วยใบเสร็จ” ซึ่งไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงเลย
4. ประกันสินทรัพย์ต่างๆ
ตรงนี้ดูเป็นอะไรที่หลายๆ คนให้ความสนใจระดับหนึ่งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัยบ้าน ต่างๆ แต่สำหรับที่มองข้ามแนะนำว่าให้รีบจัดการโดนด่วนเพราะส่วนใหญ่ประกันสินทรัพย์เหล่านี้ เบี้ยจะถูกมาก แต่ให้ความคุ้มครองที่สูง ซึ่งถือว่าคุ้มมากๆ อยู่แล้ว เพราะถ้าเกิดเราดวงไม่ดีขึ้นมา ค่าความเสียหายจะรุนแรงมาก
พอจบตรงนี้หลายๆ คนบอกว่าถ้าเราเอาแต่เงินมาทำแบบนี้แล้วเมื่อไหร่เราจะ “รวย” ล่ะ? แน่นอนว่าการซื้อสินค้าการเงินอย่าง “ประกัน” จะไม่ได้ช่วยให้ความมั่งคั่งเราเพิ่มสักเท่าไหร่ แต่ประกันจะช่วยปกป้องความมั่งคั่งได้ดีที่สุด ลองคิดถึงว่าถ้าเราป่วย เกิดอุบัติเหตุ หรือรถชนขึ้นมา แล้วเราไม่มีเงินจัดการปัญหาตรงนี้ สุดท้ายเราก็ต้องเป็น “หนี้” แล้วเงินกู้ช่วงที่เราเดือดร้อนจะเป็นเงินที่มีต้นทุน (ดอกเบี้ย) ที่สูงที่สุด ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่คุ้มกันเลย พื้นฐานเราต้องดูแลตัวเองให้ไม่เป็นภาระคนอื่นก่อนไม่ว่าสถานการณ์ใดจะเกิดขึ้นก็ตาม