5 ขั้นตอนช่วยแก้นิสัยชอบ ผัดวันประกันพรุ่ง

บทความจาก Wall Street Journal กล่าวถึงเรื่องพฤติกรรมชอบ ผัดวันประกันพรุ่ง ว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่แปลก และเป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนเคยทำกันมาแล้ว โดยแนะว่าผลกระทบของมันคือถ้าทำจนติดเป็นนิสัย อาจส่งผลเสียต่อชีวิตการทำงานและครอบครัวได้
เรื่องที่คุณอาจสนใจ: เคล็ดไม่ลับ ทำงานยังไงให้ได้เยอะกว่าเดิม, เทคนิคสร้างสมดุลเรื่องทำงานกับพักผ่อน, วิธีออกกำลังกายเมื่ออยู่ที่ทำงาน, วิธีขจัดความเขินอายเมื่อทำงานร่วมกับผู้อื่น, วิธีแก้ปัญหาขี้เกียจตื่นในเช้าวันจันทร์
นักวิจัยที่จากมหาวิทยาลัย Stockholm ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาเรื่องนี้ออกมา ซึ่งระบุว่าการ ผัดวันประกันพรุ่ง ที่เรื้อรังนั้น คือการที่คนเราจัดการกับความกดดันทางอารมณ์และจิตใจ เช่นแทนที่จะทำงานให้เสร็จ เราอาจเลือกไปออกกำลังกายแทน โดยให้เหตุผลเข้าข้างตัวเองว่า การออกกำลังกายสิ่งที่มีเป็นประโยชน์ นักจิตวิทยาเรียกการกระทำเช่นนี้ว่าเป็น “การชดเชยทางจิตใจ” ที่ทำให้ผู้กระทำมีความรู้สึกดี

ผู้ที่ชอบ ผัดวันประกันพรุ่ง บางคนอ้างว่า การที่ตนเองนั้นยังไม่เริ่มทำงานชิ้นนู้นชิ้นนี้ เพราะกำลังหาทางที่จะทำให้งานออกมาสมบูรณ์แบบเต็มที่ เพื่อจะได้ไม่ต้องแก้ไขอีก ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ผลที่เกิดตามมาจากนิสัยผัดวันประกันพรุ่งที่ฝังลึกเรื้อรัง อาจส่งผลให้ถูกไล่ออกจากงาน ชีวิตครอบครัวล้มเหลว และทำให้เจ้าตัวนั้นขาดความมั่นใจในตนเอง ซึ่งทั้งหมดนั้นยังเชื่อมโยงไปถึงโรคซึมเศร้า ความกระวนกระวายใจ และสุขภาพร่างกายไม่ดี
ด้านศาสตราจารย์ Timothy Pychyl อาจารย์สอนวิชาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Carleton ในประเทศแคนาดา ได้ให้คำแนะนำเพื่อแก้นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง ไว้เป็นขั้นตอนดังนี้
ขั้นแรก
ให้แบ่งโครงสร้างงานที่ตัวเองจะต้องทำออกเป็นส่วนๆ โดยกำหนดเป้าหมายของงานแต่ละส่วนไว้ด้วย
ขั้นที่สอง
เริ่มต้นทำงานตามแผนการที่วางไว้
ขั้นที่สาม
เตือนใจตนเองเสมอว่า การทำงานเสร็จจะเป็นประโยชน์กับตนเองในอนาคต และการเลื่อนการทำงานออกไปก่อน เพื่อไว้ทำในอนาคตก็ไม่ได้ช่วยให้งานนั้นน่าสนุกขึ้นจากเดิม
ขั้นที่สี่
หากตนเองเลื่อนการทำงานออกไป ให้กำหนดบทลงโทษตัวเองเอาไว้ โดยไม่ต้องเป็นโทษที่หนักหนามาก เช่น ถ้าอยากจะเล่นวิดีโอเกมแทนการทำงาน ก็ต้องไปใช้เครื่องคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งที่ไม่มีเกมในเครื่องแทน เป็นต้น
ขั้นสุดท้าย
เมื่อทำงานเสร็จทั้งหมด ก็ให้ตบรางวันเล็กๆ น้อยๆ แก่ตนเอง เป็นระยะๆ เพื่อจะได้รู้สึกอยากทำงาน และสนุกกับงานที่ทำมากขึ้น
อย่างไรก็ตามนักวิจัยหลายทีมงานกำลังศึกษาทดลองวิธีต่างๆ ที่จะแก้นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง รวมทั้งวิธีบำบัดโดยการสอนให้รู้จักช่วยตนเองและการหารือกับนักจิตวิทยาเพื่อให้รู้จักตนเอง และมองอนาคตของตนเองได้ในระยะยาว เหล่านี้เป็นต้น จะมีผลการทดลองวิธีบำบัดบางวิธีเป็นเวลา 1 ปีเผยแพร่ออกมาให้ได้ทราบกันในปีนี้ว่า วิธีใดทำได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหน
สำหรับผู้ที่รู้ว่าตัวเองนั้นเป็นคนที่มีอุปนิสัยที่เข้าข่ายนี้ ก็ลองนำเอาขั้นตอนทั้ง 5 ที่กล่าวมานั้นไปปฏิบัติตามดู จะได้หายจะการชอบผัดวันประกันพรุ่งเสียที ทั้งนี้ก็เพื่ออนาคตของตัวเองล้วนๆ