ในยุคสมัยปัจจุบัน บัตรเครดิตได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเดี๋ยวนี้คงไม่มีใครที่จะพกเงินสดเป็นตั้งๆ ออกไปซื้อใช้จ่ายของแน่นอน ยังไม่นับถึง โปรโมชั่นกับร้านค้าต่างๆ อีกมากมาย ที่ทำให้การจ่ายเงินของเรามีความคุ้มค่ามากกว่าการจ่ายเงินสดเสียอีก เช่น ไปทานอาหารร้านไหนก็ได้รับส่วนลดพิเศษ ไปดูหนังก็ได้ตั๋วในราคาพิเศษ หรือความคุ้มครองในกรณีเครื่องบินดีเลย์ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าบัตรเครดิตเป็นสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์หลากหลายเสียจริงๆ
แต่เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าเวลาเรารูดบัตรเครดิต สมมติซัก 100 บาท แล้ว ค่าใช้จ่ายของเราถูกแยกไปจ่ายให้กับใครบ้าง เพราะเวลาเราจ่ายก็มีตั้งหลากหลายบริษัทมาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้จำหน่ายสินค้า ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตของเรา ไปจนถึงตัวกลางในการตัดเงินอย่างเช่นพวก VISA หรือ Mastercard
ค่าธรรมเนียมในการจ่าย

ทุกครั้งที่คุณรูดบัตรเครดิตในการซื้อสินค้าหรือบริการอะไรบางอย่าง ร้านค้านั้นๆ จะไม่ได้รับเงินจากจำนวนเงินที่เราจ่ายแบบเต็มๆ เช่น หากเราซื้อของราคา 100 บาท โดยเฉลี่ยแล้วร้านค้าจะได้รับเงินจริงๆ 97.76 บาทเท่านั้น ในขณะที่เงินจำนวน 2.24 บาทที่เหลือจะตกไปอยู่กับ ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต ธนาคารของร้านค้า และตัวกลางในการตัดเงิน
ซึ่งขั้นตอนในการแบ่งค่าธรรมเนียมจะเป็นไปในขั้นตอนดังนี้
- เราซื้อสินค้า 100 บาท โดยรูดบัตรเครดิตจากธนาคารซิตี้แบงค์ที่เป็น Visa
- ร้านค้าใช้เครื่องรับบัตรของธนาคารกรุงเทพ
- หากซิตี้แบงค์สามารถเก็บเงินจากเราซึ่งเป็นคนรูดบัตรได้ ซิตี้แบงค์ก็จะได้ค่าธรรมเนียม 1.8 บาทในฐานะธนาคารที่ออกบัตรให้แก่ลูกค้า
- จากนั้นเงินที่เหลือหลังจากหักค่าธรรมเนียมส่วนของซิตี้แบงค์แล้ว ก็จะถูกส่งไปหา Visa
- Visa จะได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นตัวกลาง 0.11 บาท จากนั้นก็จะส่งเงินต่อไปให้กับธนาคารเจ้าของร้านค้าซึ่งก็คือธนาคารกรุงเทพ
- ธนาคารกรุงเทพก็จะได้ค่าธรรมเนียม 0.33 บาท ในฐานะที่เป็นผู้ออกเครื่องรับบัตรให้กับร้านค้า ซึ่งพอได้รับเงินแล้วก็ส่งต่อให้ร้านค้าในจำนวนเหลือสุดท้าย 97.76 บาท
สรุปเงินค่าธรรมเนียมเวลารูดบัตรเครดิตจะถูกกระจายไปดังนี้
- ลูกค้าที่จ่ายเงิน เสียเงินไป 100 บาท
- ร้านค้าที่รับเงิน 97.76 บาท
- ธนาคารของลูกค้า 1.80 บาท
- ธนาคารของร้านค้า 0.33 บาท
- ตัวกลางในการตัดเงิน 0.11 บาท
ทำไมเงินถูกกระจายไม่เท่ากัน

หากได้เห็นจำนวนเงินค่าธรรมเนียมที่ถูกกระจายไปในแต่ละที่แล้ว ท่านอาจมีความสงสัยต่อไปว่า แล้วเหตุใดเงินถึงถูกกระจายไปไม่เท่ากัน ทำไมธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตจึงได้เงินมากที่สุด และตัวกลางในการตัดเงินน้อยที่สุด คำตอบก็คือ ความเสี่ยง แม้ธนาคารหรือตัวกลางแต่ละเจ้าจะมีส่วนร่วมในขั้นตอนกระบวนต่างๆ เหมือนกัน แต่ความเสี่ยงหรือต้นทุนของแต่ละเจ้าไม่เท่ากัน จึงเป็นเหตุที่ทำให้ได้รับค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันไปนั่นเอง
เช่น ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตที่ท่านใช้รูด อย่างในตัวอย่างด้านบนก็คือ ธนาคารซิตี้แบงค์ กว่าตัวธนาคารจะสามารถทำบัตรให้เรามาใช้รูดได้ก็ต้องผ่านความลำบากมาพอสมควร ตั้งแต่การโน้มน้าวเราให้ทำบัตร เสียค่าทำบัตรพลาสติก ค่าจ้างพนักงานเพื่อมาทำบัตรให้เรา และยังรับความเสี่ยงที่เราเอาบัตรเครดิตไปใช้ แต่เราอาจจะไม่มีเงินมาจ่ายคืนก็ได้เช่นกัน
ในขณะเดียวกันตัวกลางในการตัดเงินอย่างเช่น Visa, Mastercard หรือ JCB ไม่ค่อยมีความเสี่ยงหรือแบกรับภาระอะไรมากนัก เพราะค่าออกบัตรก็ไม่ได้เป็นคนออก ไม่ต้องไปวิ่งหาหรือง้อลูกค้า แค่ทำหน้าที่ในการเป็นตัวกลางตัดและส่งเงินเท่านั้น
คำตอบของค่าธรรมเนียมที่ไม่เท่ากัน

การแบกรับภาระและความเสี่ยงที่แตกต่างกันนี่เอง จึงเป็นที่มาของ ค่าธรรมเนียมที่ไม่เท่ากัน ซึ่งแม้ค่าธรรมเนียมเหล่านี้จะดูน้อย เช่น เหล่าตัวกลางในการตัดเงินได้เพียง 0.11 บาท จาก 100 บาท ทว่าแต่ละวันมีการใช้จ่ายบัตรเครดิตทั่วโลกไม่รู้กี่หมื่น กี่แสน หรือกระทั่งกี่ล้านครั้ง และค่าใช้จ่ายจริงๆ คงไม่ใช่แค่หลักร้อยแน่นอน
ดังนั้นจึงไม่แปลกเลย ที่ธนาคารจึงมีโปรโมชั่นต่างๆ ที่จะดึงดูดลูกค้าหรือผู้บริโภคให้มาใช้รูดจ่ายเงินด้วยบัตรของตนเองมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Cash Back ส่วนลดพิเศษ ไปจนถึงการแถมของพิเศษต่างๆ ที่ทำได้ก็เพราะส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมดังกล่าวนี้นั่นเอง
สนใจเรื่องบัตรเครดิต สินเชื่อ หรือมีคำถาม ติดต่อ rabbit finance ได้เลย
ขอบคุณข้อมูลจาก: finnomena