พอเริ่มแก่ตัว หรือเข้าสู่ช่วงวัยเกษียณ ทำไมบางคนถึงได้สุ่มเสี่ยงหรือเป็นโรคซึมเศร้าทั้งที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน? วันนี้ rabbit finance จะพาไปหาสาเหตุและวิธีดูแลผู้สูงอายุให้แฮปปี้มีชีวิตชีวากันค่ะ
ซึมเศร้าในวัยเกษียณ เกิดจากอะไร?
ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุนั้นมักมีสาเหตุมาจากปัจจัยกระตุ้นทั้งทางกาย จิต และสังคม หลัก ๆ คือ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต และผู้สูงวัยไม่สามารถปรับตัวได้ นับได้ว่าเป็นปัจจัยทางจิตสังคมสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น
- รู้สึกเหงา ว้าเหว่ ไม่ได้ออกไปพบปะเพื่อนฝูง หรือมีสังคมหลังเกษียณจากการทำงาน
- หย่าร้างกับคู่รัก
- สูญเสียบุคคลที่รัก เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หลาน เพื่อนสนิท หรือแม้แต่คู่ชีวิตของตน
- อยู่ตัวคนเดียว ไม่ได้อยู่กับครอบครัว หรือญาติมิตร
หรือในส่วนของโรคภัยและปัญหาสุขภาพบางอย่างก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ เช่น
- โรคภัยรุมเร้า อาทิ เบาหวาน หัวใจ ไต ตับ มะเร็ง สมองเสื่อม และอัลไซเมอร์ เ็นต้น
- มีความเครียดสะสม
- มีหนี้สินที่สะสมมาตั้งแต่ตอนวัยทำงาน
- ดื่มแอลกอฮอลล์หรือสูบบุหรี่มากเกินไป
- ขาดวิตามินบางประเภท เช่น วิตามิน B12
ดังนั้น เพื่อการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหา กรมสุขภาพจิตให้คำแนะนำไว้ว่า ผู้สูงอายุหรือผู้ที่เพิ่งเกษียณทุกคนหมั่นทำแบบประเมินตัวเองอย่างสม่ำเสมอ หรือหมั่นสังเกตตัวเองว่ามีอะไรผิดปกติบ้างหรือไม่
อย่าประมาท หรือละเลยอาการเหล่านี้ เพียงเพราะสมัยยังเป็นหนุ่มสาวไม่เคยมีอาการมาก่อน เพราะโรคซึมเศร้านั้นสามารถเป็นได้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย บางรายอาจจะเป็นคนอารมณ์ดีมาตลอด และสุขภาพแข็งแรง แต่เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณจึงเริ่มมีอาการซึมเศร้าให้เห็น
สัญญาณบ่งชี้ว่าผู้สูงอายุในบ้านอาจเป็นโรคซึมเศร้า
อาการของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุจะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อย ปานกลาง ไปจนถึงขั้นรุนแรง โดยอาจมีสัญญาณอันตรายที่ลูกหลานควรหมั่นสังเกตได้ง่าย ๆ ดังนี้
- อารมณ์แปรปรวนง่าย เช่น จากที่เคยใจเย็นกลับใจร้อนมากขึ้น โกรธง่ายขึ้น ขี้บ่นมากขึ้น มีเหตุผลน้อยลง หรืออาจจะวิตกกังวลง่ายขึ้น
- หมดความสนใจในสิ่งที่เคยชอบมาก ๆ หรือไม่มีกำลังใจจะทำกิจกรรมที่ชอบ
- เบื่อง่าย เบื่อคนรอบตัว เบื่ออาหาร เบื่อตัวเอง ไม่เข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ชอบอยู่เงียบ ๆ คนเดียว
- เริ่มไม่อยากดูแลตัวเอง ไม่อยากกินข้าว ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินยา ไม่อยากไปหาหมอ
- น้ำหนักลดจากการเบื่ออาหาร
- มีปัญหาในการนอน เช่น นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก บางรายอาจจะหลับ ๆ ตื่น ๆ
- ความจำไม่ค่อยดี ความจำสั้น และสมาธิสั้นลงอย่างเห็นได้ชัด
- พูดในประโยคทำนองว่า ตัวเองไม่มีค่า อยู่ไปก็ไร้ค่า อยากตาย ไม่อยากอยู่ต่อแล้ว
- พูดน้อย ถามคำตอบคำ เก็บตัว ไม่อยากคุยกับใคร
- อ่อนเพลียอย่างไม่มีสาเหตุ
- สำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะรุนแรง จะเริ่มมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเอง
ทั้งนี้การรักษาโรคซึมเศร้าที่มีสาเหตุทางกาย จิตสังคม ต้องอาศัยการปรับตัวของคนรอบข้าง ให้ความเข้าใจและเอาใส่ใจ ที่สำคัญคือไม่ด่วนสรุปเองว่าเป็นหรือไม่ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด และเร่งทำการรักษาเมื่อพบอาการผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ บางรายก็สามารถรักษาได้ด้วยการบำบัด แต่บางรายต้องทานยาควบคู่ไปด้วย
โรคซึมเศร้าของผู้สูงอายุนั้นเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย และใช้เงินในการรักษาค่อนข้างมาก นอกจากนี้ยังต้องใช้ความเข้าใจจากคนรอบข้างอีกด้วย ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท การทำประกันต่าง ๆ ไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ หรือ ประกันเพื่อวัยเกษียณ ที่ให้ความคุ้มครองรายได้ โดยทางบริษัทประกันฯ จะจ่ายเงินผลประโยชน์ให้กับผู้ทำประกันเป็นรายเดือน หรือรายปี ตามข้อตกลงอย่างสม่ำเสมอ ช่วยแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ในชีวิตประจำได้เยอะเลยนะคะ