แคร์การเงิน

SSF กับ RMF กองทุนลดหย่อนภาษี ทางเลือกในการลงทุนที่ลดหย่อนภาษีได้

ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ

ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี

close
Published December 20, 2020

จากการทำงานหนักมาตลอดทั้งชีวิต คุณเคยวางแผนการใช้ชีวิตในช่วงเกษียณอายุกันบ้างหรือไม่? ว่าหลังจากช่วงเกษียณอายุแล้วจะทำอะไรต่อ และต้องมีเงินเก็บออมไว้ใช้เท่าไหร่ถึงจะพอ ฉะนั้นแล้วเรามาวางแผนการเงินเพื่อให้มีไว้ใช้ในยามเกษียณอายุกันดีกว่า ซึ่งแรบบิท แคร์ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกองทุน RMF และกองทุน SSF มาฝากกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นทางเลือกในการออมเงินเพื่อเกษียณอายุทางหนึ่งที่ได้รับผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากออมทรัพย์แล้ว RMF และ SSF ยังลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

กองทุนลดหย่อนภาษี SSF กับ RMF เป็นทางเลือกในการออมเงินเพื่อเกษียณอายุ

กองทุน RMF คืออะไร

RMF ย่อมาจาก Retirement Mutual Fund หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF คือกองทุนรวมที่ส่งเสริมให้เกิดการออมเงินในระยะยาว จึงเหมาะกับผู้ที่ไม่มีสวัสดิการออมเงินมารองรับอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งกองทุน RMF จะต้องลงทุนไว้อย่างน้อย 5 ปี และไม่ขายจนกว่าตัวเองจะอายุครบ 55 ปี หรือเสียชีวิต หรือทุพพลภาพก่อน และต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี 

โดยกองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำไปจนถึงความเสี่ยงสูง สำหรับความเสี่ยงต่ำกองทุน RMF จะเข้าไปลงทุนในตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล สำหรับความเสี่ยงระดับปานกลาง กองทุน RMF จะเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน และกองทุน RMF ที่มีระดับความเสี่ยงสูงจะเน้นเข้าไปลงทุนในหุ้น ซึ่งเราควรเลือกการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด เพราะการลงทุนในแต่ละแบบจะให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันออกไป

RMF ลดหย่อนภาษีได้

นอกจากนี้กองทุน RMF ยังสามารถนำสิทธิมาลดหย่อนทางภาษีได้อีกด้วย โดยลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และไม่เกิน 500,000 บาทเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ได้แก่ กองทุน SSF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนการออมแห่งชาติ แต่ถ้าลงทุนน้อยกว่า 5 ปี ผู้ลงทุนต้องชำระคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับมาทั้งหมด และต้องนำกำไรที่ได้จากขายคืนหน่วยลงทุนไปรวมกับเงินได้เพื่อเสียภาษีด้วย

RMF มีเงื่อนไขอะไรบ้าง

การลงทุนใน RMF มีเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีอยู่ ซึ่งเราจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เพราะถ้าหากลงทุนผิดเงื่อนไข จะต้องคืนภาษีที่ได้รับการลดหย่อนภาษีมาแล้วและต้องเสียค่าปรับตามที่กรมสรรพากรกำหนด น้องแคร์เลยรวบรวมคำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับเงื่อนไข RMF มาฝากกัน ดังนี้

1. RMF ซื้อได้เท่าไหร่

เราสามารถซื้อ RMF เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

2. RMF ขายได้เมื่อไหร่

เราจะต้องถือ RMF ไว้อย่างน้อย 5 ปีนับจากวันที่ซื้อครั้งแรกและจะขายคืนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีเป็นต้นไป 

3. RMF ต้องซื้อทุกปีไหม

เราต้องซื้อ RMF อย่างต่อเนื่องทุกปีและต้องไม่หยุดซื้อ RMF นานเกินกว่า 1 ปี ดังนั้น หมายความว่าสามารถซื้อปีเว้นปีได้ และถ้าหากปีไหนที่ไม่มีเงินได้ ก็จะสามารถหยุดลงทุนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข เราสามารถหยุดซื้อ RMF ได้ก็ต่อเมื่อซื้อและถืออย่างต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

4. ซื้อ RMF วันสุดท้ายเมื่อไหร่

สำหรับปี 2565 เราจะต้องซื้อ RMF และแจ้งใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีกับบลจ. ให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ถ้าแจ้งใช้สิทธิ์หลังวันที่ 31 ธันวาคมจะได้รับการคืนภาษีล่าช้า

5. สับเปลี่ยนกองทุน RMF ต้องทำอย่างไร

การสับเปลี่ยนกองทุน RMF กองหนึ่งไปยังกองทุน RMF อีกกองหนึ่งสามารถทำได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี โดยหากสับเปลี่ยนกองทุนภายในบลจ. เดียวกันจะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าหากสับเปลี่ยนกองทุนต่างบลจ. ก็อาจจำเป็นต้องกรอกเอกสารและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามเงื่อนไขของแต่ละบลจ.

6. ขาย RMF ก่อนกําหนดได้ไหม

เราสามารถขาย RMF ก่อนกําหนดได้ แต่จะต้องคืนเงินภาษีย้อนหลังสูงสุด 5 ปีที่ได้รับยกเว้นไป โดยยื่นเสียภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข และถ้าหากมีกำไรจากการขาย RMF จะต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้ของปีที่ขายด้วย

กองทุน RMF เงื่อนไข

กองทุน SSF คืออะไร

SSF ย่อมาจาก Super Saving Fund หรือกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว SSF คือกองทุนที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น เพื่อการลงทุนในอนาคตและเพื่อการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับกองทุน RMF ที่เน้นเรื่องการออมเหมือนกัน แต่กองทุน RMF จะต้องถือครองกองทุนไปจนถึง 55 ปี ในขณะที่กองทุน SSF มีความยืดหยุ่นมากกว่า เพราะระยะเวลาการถือครองไม่ต่ำกว่า 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อ โดยนับแบบวันชนวัน

กองทุน SSF เปิดขายครั้งแรกไปเมื่อช่วงวันที่ 1 เมษายน 2563 โดยกองทุนจะเข้าไปลงทุนในหลักทรัพย์หลาหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นต่างประเทศ หรือลงทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือจัดตั้งเป็นกองทุนผสม หรือลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น 

SSF ลดหย่อนภาษีได้

กองทุน SSF สามารถนำไปหักเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน SSF ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน หรือไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ เช่น กองทุน RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือ กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งเป็นการลดหย่อนภาษีแบบปีต่อปี เมื่อนักลงทุนซื้อออมปีไหนก็นำไปลดหย่อนในปีนั้น 

SSF มีเงื่อนไขอะไรบ้าง

การลงทุนในกองทุน SSF ก็มีเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีอยู่เช่นเดียวกัน และถ้าหากเราทำผิดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งก็จะทำให้ต้องคืนเงินภาษีในส่วนที่ได้รับไปและมีความวุ่นวายอื่น ๆ ตามมา เราจึงควรปฏิบัติตามเงื่อนไขใยการลงทุนทั้งหมดหากเป็นไปได้ ซึ่งน้องแคร์ได้รวบรวมคำถามที่หลายคนสงสัยมาให้แล้ว ดังนี้

1. SSF ต้องถือกี่ปี

เราจะต้องถือ SSF ให้ครบ 10 ปีแบบวันชนวันโดยนับตั้งแต่วันที่ซื้อจึงจะไม่ผิดเงื่อนไข แต่ไม่จำเป็นต้องซื้ออย่างต่อเนื่องเหมือนกองทุน RMF

2. SSF ซื้อได้เท่าไหร่

เราสามารถซื้อ SSF เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บาท รวมถึงเมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

3. SSF ต้องซื้อทุกปีไหม

การซื้อ SSF ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี และจะขายคืนได้ก็ต่อเมื่อมีระยะลงทุนเวลาครบ 10 ปีแล้วเท่านั้น

4. ซื้อ SSF วันสุดท้ายเมื่อไหร่

เช่นเดียวกับการซื้อกองทุน RMF สำหรับปี 2565 คือเราจะต้องซื้อ SSF และแจ้งใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีกับบลจ. ให้เรียบร้อยภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพราะถ้าแจ้งใช้สิทธิ์หลังจากนั้นจะได้รับการคืนภาษีล่าช้า

5. สับเปลี่ยนกองทุน SSF ต้องทำอย่างไร

เราสามารถสับเปลี่ยนกองทุน SSF กองหนึ่งไปยังอีกกองได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีแต่อย่างใด หากสับเปลี่ยนกองทุนภายในบลจ. เดียวกันจะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าหากสับเปลี่ยนกองทุนไปยังบลจ. หนึ่งจะต้องกรอกเอกสารและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

6. ขาย SSF ก่อนกําหนดได้ไหม

การขาย SSF ก่อนครบกําหนด 10 สามารถทำได้ แต่จะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นไป โดยยื่นเสียภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป และในกรณีที่มีกำไรจากการขาย SSF จะต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้ของปีที่ขาย

กองทุน SSF เงื่อนไข

ประกันบำนาญอีกหนึ่งตัวช่วยช่วงวัยเกษียณอายุ

ประกันบำนาญเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการออมเงินเพื่อเก็บออมไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ ซึ่งเป็นการออมระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตในยามแก่เฒ่าได้ โดยผลตอบแทนของการซื้อประกันแบบนำนาญจะอยู่ที่  2 – 4% ต่อปี ซึ่งถือว่ามากกว่าการออมแบบฝากเงินออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% เท่านั้น 

โดยผู้ที่ซื้อประกันบำนาญจะให้ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และจะทำการจ่ายเงินผลประโยชน์คืนทุกปี ตั้งแต่ตอนอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี หลังจากจ่ายเบี้ยประกันครบตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ซึ่งผู้ที่ซื้อประกันบำนาญจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันให้ครบก่อนถึงจะไ้ดรับผลประโยชน์ โดยช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อมีอายุตั้งแต่ 55 – 85 ปี หรือมากกว่านั้นตามแต่ละบริษัท จะเป็นผู้กำหนด 

ทั้งนี้ ประกันบำนาญที่จ่ายเพื่อการออมในทุก ๆ ปี ซึ่งในช่วงระหว่างทางที่ยังไม่ได้เกษียณอายุ ก็สามารถนำสิทธิไปลดหย่อนทางภาษีได้สูงสุด 200,000 บาท และไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ซึ่งเงินก้อนนี้เมื่อนำไปรวมกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมกันต้องไม่เกิน 500,000 บาท

สนใจออมเงินในรูปแบบประกันบำนาญเพื่อการเกษียณอายุได้ที่ Rabbit Care


 

บทความแคร์การเงิน

แคร์การเงิน

รวม 6 วิธี ในการลดหย่อนภาษี แถมช่วยวางแผนชีวิตดี ๆ ให้กับตนเอง

‘ลดหย่อนภาษี’ สิ่งที่ถ้าเป็นไปได้ผู้ที่ต้องยื่นภาษีทุกคนก็ล้วนแล้วแต่อยากทำ เมื่อเวลาที่ต้องยื่นภาษีเวียนมาอีกครั้ง แรบบิท แคร์
กองบรรณาธิการ
15/02/2024

แคร์การเงิน

อิสรภาพทางการเงิน คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ? ต้องทำอย่างไรจึงจะมีอิสรภาพทางการเงิน ?

พูดถึงคำว่าอิสรภาพทางการเงิน (Financial Independence) สำหรับคนที่รู้ความหมายก็คงไม่มีใครที่ไม่อยากมี
คะน้าใบเขียว
03/01/2024