ทำความรู้จักกับ ประกันสำหรับคนอายุมาก คืออะไร
ตอบให้เข้าใจว่ารปะกันของผู้ที่มีอายุมากคืออะไร ให้ความคุ้มครองเหมือนประกันทั่วไปหรือไม่
ประกันผู้สูงอายุ คือ แพคเกจประกันชีวิตสำหรับกลุ่มคนที่มีอายุค่อนข้างมาก (45-75 ปี) ถือเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสเจ็บป่วยมากกว่าคนหนุ่มสาว ประกันผู้สูงอายุถือเป็นประกันชีวิตรูปแบบพิเศษที่แยกออกมาจากประกันชีวิตแบบอื่นๆและถูกออกแบบมาเพื่อเปิดโอกาสและช่วยอำนวยความสะดวกให้สำหรับผู้สูงอายุที่อยากทำประกันชีวิต
โดยปกติแล้ว บริษัทประกันส่วนใหญ่มักจะมีการกำหนดช่วงอายุของบุคคลที่สามารถทำประกันชีวิตไว้ ทำให้ผู้สูงอายุต้องการทำประกันชีวิตไม่สามารถทำประกันตามที่ต้องการได้ หรือ ในบางกรณีทำให้ผู้สูงอายุจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตในราคาที่สูงกว่าปกติ เนื่องจาก ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว และมีความเสี่ยงมากกว่าคนในวัยหนุ่มสาว
ประกันผู้สูงอายุ จะให้ความคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและโรคภัยต่างๆ แก่บุคคลที่มีอายุ 50 – 70 ปี และให้ความคุ้มครองไปจนถึงอายุ 90 ปี ส่วนใหญ่จะ ไม่ต้องตรวจสุขภาพ และมีเบี้ยประกันคงที่ตลอดระยะเวลาการคุ้มครอง
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ ประกันผู้สูงอายุ แตกต่างจากประกันชีวิตทั่วไปคือ ประกันผู้สูงอายุจะจ่ายเงินก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตเท่านั้น และ ผู้เอาประกันไม่สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ (นอกจากผู้เอาประกันได้ทำประกันที่ให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมไว้)
ประกันผู้สูงอายุมีเงื่อนไขการจ่ายเงินเอาประกันว่า
• จ่ายเงินก็ต่อเมื่อเสียชีวิตเท่านั้น ไม่ให้ความคุ้มครองในกรณีทุพพลภาพ เจ็บป่วย เนื่องจากไม่ใช่ประกันสุขภาพ
• ผู้เอาประกันเสียชีวิตหลังจาก 2 ปี นับจากวันที่กรมธรรม์มีผลคุ้มครอง บริษัทประกันจะจ่ายเงินชดเชยเต็มจำนวน ไม่ว่าจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือเป็นโรคร้าย
• ผู้เอาประกันเสียชีวิตภายใน 1- 2 ปี นับจากวันที่กรมธรรม์มีผลคุ้มครอง จะสามารถแบ่งการจ่ายเงินเอาประกันออกเป็น 2 แบบ คือ
-
เสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ บริษัทประกันจะจ่ายค่าเบี้ยประกันที่ผู้เอาประกันได้มีการชำระไปก่อนหน้านี้ รวมกับ ผลตอบแทนเพิ่มอีกประมาณ 2-3%
-
เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ บริษัทประกันจะจ่ายเงินชดเชยตามวงเงินที่ถูกระบุไว้ในกรมธรรม์ประกัน
[rabbitads slug=glossary-life]
สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังก็คือ
บริษัทประกันส่วนใหญ่มักจะไม่บอกข้อมูลแก่ผู้เอาประกันว่า ในกรณีที่ผู้เอาประกันมีอาการเจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนหน้า และไม่ได้ทำการแสดงผลสุขภาพให้แก่เจ้าหน้าที่บริษัทประกันรับทราบ หากเสียชีวิตผู้เอาประกันจะไม่ได้รับความคุ้มครองและเงินคืนตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ นอกจากนี้ประกันผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มักจะไม่ได้ระบุโรคที่กฎหมายไม่คุ้มครอง และ ไม่สามารถเรียกร้องเงินเอาประกันได้ไว้อีกด้วย
• โรคมะเร็งลำไส้
• โรคเบาหวาน
• โรคความดันโลหิตสูง
• โรคตับแข็ง
• โรคพิษสุราเรื้อรัง
• โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
• โรคลมชัก
• โรคไตวายร้ายแรง
• โรคดีซ่าน
โรคต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นโรคที่กฎหมายไม่คุ้มครองทั้งสิ้น แม้ว่าผู้สูงอายุที่ทำประกันไว้จะเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ แต่หากบริษัทประกันตรวจพบว่า ผู้เอาประกันมีโรคประจำตัวเป็น 1 ในโรคที่กฎหมายไม่คุ้มครอง ลูกหลานของผู้เอาประกันก็จะไม่ได้รับเงินทดแทนเช่นเดียวกัน
บริษัทประกันส่วนใหญ่จะจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เอาประกันนั้น บริษัทประกันมักจะดำเนินการตรวจสอบประวัติการเจ็บป่วยของผู้เอาประกันก่อน (ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 90 วัน) จึงจะดำเนินการจ่ายเงินคืนให้ตามสัญญา